กฎบัตรอาเซียน

กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) เปรียบได้กับ "ธรรมนูญของอาเซียน" ซึ่งเป็นร่างสนธิสัญญาที่ประเทศสมาชิกอาเซียนทำร่วมกัน เพื่อเป็นการวางกรอบกฎหมาย แนวปฏิบัติ ขอบเขต ความรับผิดชอบต่าง ๆ รวมทั้งโครงสร้างองค์กรให้กับอาเซียน ให้เป็นไปภายใต้กฎหมายเดียวกัน ซึ่งสามารถปรับปรุง แก้ไข และสร้างกลไกใหม่ขึ้นมาได้ เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 ที่ประเทศสิงคโปร์ ผู้นำอาเซียนได้ร่วมกันลงนามรับรองกฎบัตรอาเซียน เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี ของการก่อตั้งอาเซียน ก่อนจะร่วมทำสัตยาบันเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2551 หลังจากมีสมาชิกครบ 10 ประเทศ ซึ่งทำให้กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2551 เป็นต้นมา

วัตถุประสงค์ของกฎบัตรอาเซียน

กฎบัตรอาเซียน กำหนดขึ้นมาโดยมีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ภายในปี พ.ศ. 2558 ตามที่ผู้นำอาเซียนได้ตกลงกันไว้ ซึ่งกฎบัตรอาเซียนนี้มีผลทำให้องค์กรอาเซียนมีสถานะเป็นนิติบุคคล

สาระสำคัญของกฎบัตรอาเซียน

จากโครงสร้างบทบัญญัติ 13 หมวดข้างต้น หากนำมาสรุปสาระสำคัญเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ เพื่อให้เห็นภาพรวมชัดขึ้น ว่า กฎบัตรอาเซียนมีวัตถุประสงค์ และสาระสำคัญอย่างไรบ้าง ก็จะสรุปได้ดังนี้

  • ด้านเศรษฐกิจ

    มีสาระสำคัญ คือ เพื่อสร้างตลาดและฐานการผลิตเดียวที่มีเสถียรภาพ มั่งคั่ง และมีความสามารถในการแข่งขันสูง มีการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่มีการเคลื่อนย้ายเสรีของสินค้า การบริการ การลงทุน และแรงงาน การเคลื่อนย้ายทุนเสรียิ่งขึ้น

  • ด้านการเมืองความมั่นคง

    เน้นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เสริมสร้างประชาธิปไตย เพิ่มพูนธรรมาภิบาลและหลักนิติธรรม ตอบสนองต่อสิ่งท้าทายความมั่นคง เช่น การก่อการร้าย ธำรงรักษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และไม่มีอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงทุกชนิด

  • ด้านความมั่นคงของมนุษย์

    เพื่อบรรเทาความยากจน และลดช่องว่างการพัฒนาภายในอาเซียน โดยผ่านความช่วยเหลือซึ่งกันและกันและความร่วมมือ พร้อมกับส่งเสริมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านความร่วมมือด้านการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิตในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างพลังประชาชน และเสริมสร้างความเข้มแข็งแห่งประชาคมอาเซียน

  • ด้านสังคม

    มุ่งส่งเสริมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างสังคมที่ปลอดภัยมั่นคงจากยาเสพติด เพิ่มพูนความกินดีอยู่ดีของประชาชนอาเซียน ผ่านโอกาสที่ทัดเทียมกันในการเข้าถึงการพัฒนามนุษย์ สวัสดิการสังคม และความยุติธรรม

  • ด้านวัฒนธรรม

    ส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียน โดยเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมรดกของภูมิภาค รวมทั้งร่วมกันอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม

  • ด้านสิ่งแวดล้อม

    สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่คุ้มครองสภาพแวดล้อม ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ

ประเทศไทยกับกฎบัตรอาเซียน

ประเทศไทยมีบทบาทนำในการจัดทำกฎบัตรอาเซียน โดยได้ผลักดันประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอาเซียนระหว่างการยกร่าง จนปรากฏอยู่ในกฎบัตรอาเซียน เช่น

  1. การจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนของอาเซียน
  2. การให้อำนาจเลขาธิการอาเซียนติดตามและรายงานการปฏิบัติตามความตกลงของรัฐสมาชิก
  3. การจัดตั้งกลไกสำหรับการระงับข้อพิพาทต่าง ๆ ระหว่างประเทศสมาชิก
  4. การระบุให้ผู้นำเป็นผู้ตัดสินว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อรัฐผู้ละเมิดพันธกรณีตามกฎบัตรอย่างร้ายแรง
  5. การเปิดช่องให้ใช้วิธีการอื่นในการตัดสินใจหากไม่มีฉันทามติ
  6. การให้ความสำคัญกับการส่งเสริม การปรึกษาหารือระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อแก้ไขปัญหาที่กระทบผลประโยชน์ร่วม ซึ่งทำให้มีการตีความหลักการห้ามแทรกแซงกิจการภายในที่อาเซียนยึดมั่นอยู่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
  7. การเพิ่มบทบาทของประธานอาเซียน เพื่อให้อาเซียนสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที
  8. การเปิดช่องทางให้อาเซียนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรภาคประชาสังคมมากขึ้น
  9. การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ให้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน ปีละ 2 ครั้ง จัดตั้งคณะมนตรี

เพื่อประสานความร่วมมือในแต่ละเสาหลัก และการมีคณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา เพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการประชุมของอาเซียน

ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากกฎบัตรอาเซียน

ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการบังคับใช้กฎบัตรอาเซียนหลายประการ ได้แก่

  1. ผลประโยชน์จากความร่วมมือต่าง ๆ ของอาเซียนมากขึ้น เนื่องจากกฎบัตรอาเซียนจะช่วยสร้างหลักประกันว่าประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ จะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว หรือมิฉะนั้นก็จะมีกลไก เพื่อทำให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามความตกลง
  2. ความสามารถรับมือกับภัยคุกคามระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดนก โรคระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาโลกร้อนหรือปัญหายาเสพติด เนื่องจากกฎบัตรจะเสริมสร้างกลไกต่าง ๆ เพื่อให้ไทยและอาเซียนแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันการณ์มากยิ่งขึ้น
  3. กฎบัตรอาเซียนจะช่วยส่งเสริมค่านิยมของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศไทย เช่น การไม่ใช้กำลังในการแก้ไขปัญหา การยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย ธรรมาภิบาลหลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  4. อำนาจการต่อรองที่เพิ่มขึ้นของประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียนในเวทีโลก เนื่องจากกฎบัตรอาเซียนจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและกติกาให้แก่อาเซียน และให้ประเทศไทยสามารถโน้มน้าวให้ประเทศนอกภูมิภาคช่วยแก้ไขปัญหาระดับโลกที่กระทบความเป็นอยู่ของประชาชนอาเซียน รวมทั้งประชาชนไทยได้อย่างมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
อ้างอิงจาก : https://aec.kapook.com/view52696.html